สารภี
ชื่อพื้นเมือง สารภี (ไทยภาคกลาง) สร้อยพี (ภาคใต้) สารภีแนน (เหนือ)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Mammea siamensis Kosterm
วงศ์ GUTTIFERAE
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
สารภีเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ สูงประมาณ 10-15 เมตร ไม่ผลัดใบ เรือนยอดเป็นพุ่มทึบ เปลือกสีเทาปนดำ แตกล่อนเป็นสะเก็ดตลอดต้น เปลือกในสีน้ำตาลแดง มียางขาวและจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองอ่อน เนื้อไม้สีน้ำตาลปนแดง
1. ใบ เป็นรูปไข่กลับแกมรูปขอบขนาน เนื้อใบหนา โคนใบสอบเรียว ปลายมนกว้างๆ บางทีอาจมีติ่งสั้นๆ หรือหยักเว้าตื้นๆ เส้นใบย่อยแบบเส้นร่างแหชัดทั้งสองด้าน ใบมียางขาว
2. ดอก สีขาว ออกเป็นช่อเดี่ยวๆ หรือเป็นกระจุกตามกิ่ง กลิ่นหอมมาก กลีบรองดอกมี 2 กลีบ กลีบมนเป็นกระพุ้ง โคนกลีบเชื่อมติดกัน กลีบดอกมีลักษณะเดียวกัน แต่มี 4 กลีบ
3. ผล เป็นรูปกระสวย ยาวประมาณ 2.5 ซม. เมื่อสุกมีสีแดง
การปลูก
พบขึ้นตามป่าเบญจพรรณและป่าดิบในภาคเหนือ ภาคตะวันออก และตะวันออกเฉียงใต้ ขยายพันธุ์โดยการตอนกิ่ง หรือเพาะเมล็ด
ประโยชน์ทางยา
ส่วนที่ใช้เป็นยา ดอก เกสร
ช่วงเวลาที่เก็บยา ดอกออกระหว่างเดือนมกราคม-มีนาคม และเป็นผลระหว่างเดือนกุมภาพันธ์-เมษายน
รสและสรรพคุณในตำราไทย
1. ดอก รสขมหอมเย็น แก้โลหิตพิการ แก้ไข้มีพิษร้อน เจริญอาหาร บำรุงหัวใจ ชูกำลัง
2. เกสร รสหอมเย็น บำรุงครรภ์รักษา ทำให้ชื่นใจ แก้ไข้
ขนาดและวิธีใช้
ในตำรายาไทยว่าดอกเข้ากับเกสรทั้ง 5 ทำยาหอมบำรุงหัวใจ แก้โลหิตพิการที่ทำให้ตัวบวม
สารสำคัญ
ดอกสารภีมีสาร flavonoid ชื่อ vitexin และสารประกอบอื่นๆ เช่น sitosterol, stigmasterol, campesterol และสารจำพวก 4-phenyl coumarins อีก 2 ชนิด
ประโยชน์ทางอาหาร
ผลสารภี มีรสหวานรับประทานได้ แต่ถ้ายางถูกลมจะมีรสขมเวลารับประทานต้องบีบลูกสองมือปลิ้นเข้าปากเลย ไม่ให้ถูกลมจึงจะมีรสหวาน
ประโยชน์อื่น
เนื้อไม้สารภีใช้ทำปืน ฝา รอด ตง เสา กระดานฯ ลฯ ดอกตูมใช้ย้อมผ้าไหมให้เป็น สีแดง
คติความเชื่อ
ตามตำราพรหมชาติจัดสารภีเป็นไม้มงคลชนิดหนึ่ง ที่ควรมีไว้ในบริเวณบ้านโดยกำหนดทิศที่ปลูกว่า ควรเป็นทิศตะวันออกเฉียงใต้ (อาคเนย์) เพื่อป้องกันเสนียดจัญไร
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น