วันพฤหัสบดีที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2553

ไผ่สีสุก


ชื่อพื้นเมือง ไผ่สีสุก
ชื่อวิทยาศาสตร์ Bambusa blumeana Schult.
วงศ์ GRAMINEAE
เป็นไม้ไผ่ประเภทมีหนาม ความยาวลำต้นสูง 10 - 18 เมตร เส้นผ่าศูนย์กลาง 8 - 12 เซนติเมตร แข็ง ผิวเรียบเป็นมัน ข้อไม่พองออกมา กิ่งมากแตกตั้งฉากกับลำต้น หนามโค้งออกเป็นกลุ่ม ๆ ละ 3 อัน อันกลางยาวกว่าเพื่อน ลำมีรูเล็กเนื้อหนา ใบมีจำนวน 5 - 6 ใบ ที่ปลายกิ่ง ปลายใบเรียวแหลม โคนใบเป็นรูปลิ่มกว้าง ๆ หรือตัดตรง แผ่นใบกว้าง 0.8 - 2 เซนติเมตร ยาว 10 - 20 เซนติเมตร ใต้ใบมีสีเขียวอมเหลือง เส้นลายใบมี 5 - 9 คู่ ก้านใบสั้น ขอบใบสาก คลีบใบเล็กมีขน
นิเวศวิทยา เชื่อกันว่าเป็นไม้ดั้งเดิมในหมู่เกาะอินเดียตะวันออก หรือหมู่เกาะแปซิฟิคตอนใต้ ในประเทศไทย มักจะขึ้นอยู่ตามที่ราบลุ่มริมห้วย แม่น้ำ และมักปลูกรอบ ๆ บ้านในชนบท
ขยายพันธุ์ ปักชำ ใช้ท่อนไม้ไผ่มาตัดทอนเป็นท่อน ๆ ให้ติดปล้อง 1 ปล้อง (ข้อตา) นำมาปักไว้ในวัสดุชำ เอียงประมาณ 45 องศา เรียงเป็นแถวเป็นแนวเดียวกันเพื่อสะดวกในการดูแลรักษา เติมน้ำลงในกระบอกไม้ไผ่ให้เต็ม ประมาณ 4 สัปดาห์ หน่อจะแตกออกจากตาไม้ไผ่ และรากจะงอกออกจากปุ่มใต้ตา หรือถ้าตัดทอนท่อนไม้ไผ่ให้ตัดข้อตา 2 ข้อ แล้วเจาะตรงกลางระหว่างข้อตา สำหรับเติมน้ำลงไปในปล้อง นำไปวางนอนในวัสดุชำแนวราบก็ได้เช่นกัน
ประโยชน์ สมัยก่อนมักปลูกไว้รอบบ้านเป็นรั้วกันขโมย กันลม หน่อเมื่ออยู่ใต้ดินทำอาหารได้มีรสดี เมื่อโผล่พ้นดินประมาณ 20 - 30 เซนติเมตร มักเอาไปทำหน่อไม้ดอง จะให้รสเปรี้ยว สีขาว และเก็บได้นาน โดยไม่เปื่อยเหมือนหน่อไม้ชนิดอื่น เนื้อไม้หนาแข็งแรง ใช้สร้างบ้านในชนบทได้ทนทาน ทำเครื่องจักสาน เครื่องใช้ในการประมง ใช้ในการทำนั่งร้านก่อสร้าง ส่วนโคนนิยมใช้ทำไม้คานหาบหามและใช้ทำกระดาษให้เนื้อเยื่อสู
คติความเชื่อ
คนโบราณนิยมปลูกไผ่สีสุกไว้ทางทิศตะวันออก (บูรพา) ถือกันเป็นเคล็ดจากชื่อที่เรียกขานเอาว่าเป็นสิริมงคลแก่ตนผู้เป็นเจ้าของและครอบครัวคือ สีสุกเป็นมงคลนามเพื่อให้เกิดความสุข ความเจริญ อยู่เย็นเป็นสุข สุขภายสบายใจในทุกสิ่งทุกอย่างนั้นเอง
ไผ่สีสุกนอกจากจะเป็นต้นไม้ตามทิศแล้วยังเป็นหนึ่งในไม้มงคลจำนวน 9 ชนิดที่จะต้องหาไว้เพื่อความเป็นสิริมงคลในการก่อสร้างอาคาร ประดิษฐาน ถาวรวัตถุและใช้ในพิธีก่อฤกษ์ หรือวางศิลาฤกษ์ ซึ่งมักเป็นสถานที่ที่มีความสำคัญต่อชาติและบ้านเมือง เช่น โบสถ์ วิหาร กระทรวง ทบวง กรม ต่างๆ
แม้ไผ่สีสุกจะเป็นไม้มงคล แต่ในบางท้องถิ่นเชื่อว่าการปลูกไผ่จะต้องให้คนแก่หรือผู้สูงอายุถึงจะดี คนหนุ่มสาวห้ามปลูกเพราะถือว่าลำต้นไผ่ใช้เป็นคานสำหรับหามโลงใส่ผีไปเผาหรือฝังลงป่าช้า เขาถือว่าหากคนอ่อนอายุปลูกอายุจะสั้นด้วยพอไม้ไผ่โตได้ขนาดจะเป็นเหตุให้คนปลูกตาย และไม้ไผ่นั้นจะถูกตัดมาเป็นไม้หามโลงของคนปลูกพอดี ส่วนคนแก่ปลูก พอไผ่โตได้ขนาดก็อาจจะหมดอายุเองเสียก่อนจึงไม่ให้โทษ นอกจากนี้ยังมีความเชื่อกันอีกว่า เมื่อไผ่ออกดอกจะเป็นลางร้ายเพราะธรรมชาติของไผ่ไม่ค่อยมีใครเห็นดอกของมันเมื่อมีดอก เมื่อดอกแห้งแล้วต้นจะตายเรียกว่า ไผ่ตายขุยจึงถือว่าไผ่ออกดอกที่บ้านใครมักจะเกิดผลร้ายกับครอบครัวนั้น ต้องทำบุญบ้านเพื่อถอนโชคร้ายเสีย ปัจจุบันในชนบทยังถือกันอยู่
ไผ่ยังเป็นสัญลักษณ์ของความซื่อสัตย์ เกียรติยศ และความเสียสละแรงบันดาลใจของศิลปินคงไม่มีไม้ใดที่ได้รับใช้มนุษย์มากมายเท่าไผ่ ไผ่มีความแข็งพอที่จะเป็นเสาบ้านได้ ขณะเดียวกันก็มีความอ่อนพอที่จะดัด สาน มัด ให้เป็นอะไรก็ได้ตามใจมนุษย์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น